ชีวิตติดหวาน…ไม่นานโรคภัยถามหา
70
post-template-default,single,single-post,postid-70,single-format-standard,bridge-core-1.0.6,ajax_fade,page_not_loaded,,qode_grid_1300,footer_responsive_adv,hide_top_bar_on_mobile_header,qode-theme-ver-18.2,qode-theme-ssbd design,disabled_footer_top,wpb-js-composer js-comp-ver-6.0.5,vc_responsive
 

ชีวิตติดหวาน…ไม่นานโรคภัยถามหา

ชีวิตติดหวาน…ไม่นานโรคภัยถามหา

พันโทหญิง ดร. กรกต วีรเธียร
สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม

ชีวิตติดหวาน ซึ่งคำว่า “หวาน” ในที่นี้แทนการบริโภคน้ำตาล เพราะความหวานส่วนใหญ่ที่คนเราได้รับนั้นมาจากน้ำตาล อาการติดรสชาติหวาน เกิดขึ้นเมื่อเราได้บริโภคน้ำตาลเข้าไปแล้วรู้สึกว่าอาหารมีรสชาติอร่อยและมีความสุข นอกจากนี้ คนเรายังนำความหวานไปผูกกับความสุขในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น วันเกิดนิยมรับประทานขนมเค้ก เทศกาลปีใหม่หรือโอกาสพิเศษต่าง ๆ นิยมให้ขนมหวานทั้งขนมไทยและเบเกอรี่เป็นของขวัญ ทำให้เมื่อนึกถึงขนมหวานต่าง ๆ สมองก็จะเชื่อมโยงไปยังความสุขในช่วงเทศกาล จากการสำรวจการบริโภคน้ำตาลของคนไทย พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ย มากกว่า 20 ช้อนชาต่อวัน โดยส่วนใหญ่มาจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และแบบชงสดบรรจุในแก้ว ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม เช่น กาแฟเย็น หรือชานมชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก วัยรุ่น และวัยทำงาน ซึ่งถ้าประชากรกลุ่มนี้สร้างนิสัยติดหวานต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคตจะกลายเป็นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุติดหวานตามมาด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อีกมากกมาย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือ โรคไต เป็นต้น ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) มีคำแนะนำเรื่องการบริโภคน้ำตาลอิสระ (Free sugar) ซึ่งหมายถึง น้ำตาลที่มีการเติมเพิ่มลงไปในอาหาร รวมถึง น้ำผึ้ง น้ำเชื่อม น้ำผลไม้ และน้ำผลไม้ชนิดเข้มข้น โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับทั่วไป แนะนำสำหรับผู้ใหญ่และเด็กบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับต่อวัน และระดับเพื่อสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น แนะนำให้บริโภคน้ำตาลต่ำกว่าร้อยละ 5 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับต่อวัน หรือคิดเป็นน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน

ชีวิตติดหวานเกิดจากการที่เราบริโภคน้ำตาลเกินจำเป็นจนติดเป็นนิสัย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบทันทีทันใดคงไม่ง่ายนัก แต่อย่างไรก็ตาม “น้ำตาล” ไม่ใช่สารเสพติด ที่เมื่อขาดแล้วร่างกายจะเกิดอาการรุนแรงจนร่างกายทนไม่ได้ ดังนั้น พฤติกรรมติดหวานจึงสามารถปรับเปลี่ยนได้ด้วยเทคนิค 3 ประการ ดังต่อไปนี้

          1. เริ่มปรับที่ตนเองก่อน โดยเริ่มลดปริมาณการรับประทานน้ำตาลลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มสร้างความเคยชินกับรสชาติใหม่ที่หวานน้อยลงจากเดิม เช่น เคยเติมน้ำตาลในอาหารหรือเครื่องดื่มก็ลดหรืองดการเติม เคยสั่งเครื่องดื่มหวานปกติก็ปรับเป็นสั่งแบบหวานน้อย เป็นต้น พยายามปฏิบัติให้ได้ต่อเนื่องอย่างน้อย 21 วัน จะทำให้พฤติกรรมดังกล่าวติดเป็นนิสัย และช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างยั่งยืน

          2. เลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ หรือปราศจากน้ำตาล โดยอ่านข้อมูลปริมาณน้ำตาลจากฉลากโภชนาการก่อนทุกครั้งที่จะซื้อ ซึ่งในปัจจุบันมีหลายผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาสูตรให้มีปริมาณน้ำตาลที่ลดลง โดยทั่วไปจะระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์ว่า ไม่เติมน้ำตาล (No Sugar Added) หรือ ปราศจากน้ำตาลทราย หรือเครื่องดื่มบางชนิดแสดงสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” เพื่อแสดงให้ทราบว่า เครื่องดื่มนี้มีปริมาณน้ำตาล ไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร

          3. ปรับ Mindset ใหม่ โดยให้คิดว่า “ชีวิตติดหวานเป็นเพียงแค่ความสุขชั่วคราว แต่ชีวิตที่อ่อนหวานเป็นความสุขที่ยั่งยืน” เพราะจะทำให้ห่างไกลโรคภัยต่าง ๆ และทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรงพร้อมที่จะดูแลตนเองและครอบครัวที่คุณรักอย่างเต็มประสิทธิภาพ

เอกสารอ้างอิง:
ปรารถนา อึ้งชูศักดิ์ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถานการณ์ การผลิตและบริโภคน้ำตาลในกลุ่มประเทศอาเชียน. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2557.
World Health Organization (WHO) Information note about intake of sugars recommended in the WHO guideline for adults and children. Available on the WHO website www.who.int, 2015
Maxwell Maltz. 21-day Habit Theory. Psycho-Cybernetics. Simon & Schuster. 1960.
ประกาศคณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมการใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่าง่าย. เกณฑ์สารอาหารหรือคุณค่าทางโภชนาการที่ใช้ประกอบการพิจารณารับรองการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ในอาหารแต่ละกลุ่ม (ฉบับที่ 2) Available from: http://healthierlogo.com Accessed 1 April 2020.