สุขภาพดีเริ่มต้นที่…โภชนาการครบถ้วน
74
post-template-default,single,single-post,postid-74,single-format-standard,bridge-core-1.0.6,ajax_fade,page_not_loaded,,qode_grid_1300,footer_responsive_adv,hide_top_bar_on_mobile_header,qode-theme-ver-18.2,qode-theme-ssbd design,disabled_footer_top,wpb-js-composer js-comp-ver-6.0.5,vc_responsive
 

สุขภาพดีเริ่มต้นที่…โภชนาการครบถ้วน

สุขภาพดีเริ่มต้นที่…โภชนาการครบถ้วน

พันโทหญิง ดร. กรกต วีรเธียร
สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

“สุขภาพดี” เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่การจะได้มาซึ่งสุขภาพดีนั้นจำเป็นต้องสร้างขึ้นด้วยตนเอง ไม่ใช่เรื่องที่ผู้อื่นจะทำแทนได้ หรือหาซื้อด้วยเงินทอง การสร้างสุขภาพที่ดีประกอบด้วยปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ โดยเรื่องอาหารการกินของคนเรานั้นน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพอย่างยิ่ง เพราะคนเราต้องรับประทานอาหารทุกวัน ดังนั้น ถ้าเราเลือกรับประทานอาหารได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย อาหารเหล่าก็เปรียบเสมือนยาที่ช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ แต่ในชีวิตจริง แม้ผู้คนส่วนใหญ่จะทราบว่าอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพ แต่ก็ยังยึดติดกับรสชาติของอาหารมากกว่า คำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งยืนยันได้จากผลสำรวจการบริโภคของคนไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 พบว่า คนไทยส่วนใหญ่เลือกซื้ออาหารตามความชอบ รสชาติ และความอยากรับประทาน มากกว่าคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการ นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในปี 2556 กับ ปี 2560 คนไทยมีแนวโน้มรับประทานอาหารรสหวานและรสเค็มมากขึ้น ในขณะที่รับประทานผัก ผลไม้ลดลง จึงไม่น่าแปลกใจที่พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้คนไทยมีแนวโน้มเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

คงยังไม่สายที่เราทุกคนควรเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพ โดยเริ่มต้นด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ซึ่งคำว่า “ครบถ้วน” นั้น หมายถึง ครบถ้วนทั้งปริมาณและสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย โดยทั่วไป ถ้าในทุกวันทุกมื้อเราสามารถรับประทานอาหารตามปกติได้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม ถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่จะได้รับสารอาหารและโภชนาการที่ครบถ้วน แต่อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ในปริมาณที่เพียงพอ หรือไม่สามารถรับประทานอาหารได้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ เช่น ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องฟันทำให้ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ หรือมีปัญหาเรื่องการรับรสชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีอาการเบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงกลุ่มผู้ป่วยบางโรคที่อาจจะมีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคที่เป็นอยู่แล้วส่งผลกระทบต่อการรับประทานอาหาร เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการฉายแสงหรือเคมีบำบัด มักจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือเบื่ออาหาร ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้รับประทานอาหารได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งทั้งผู้สูงอายุและผู้ป่วยจึงถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะทุพโภชนาการ หรือภาวะขาดสารอาหาร ได้มากกว่ากลุ่มคนทั่วไปที่สามารถรับประทานอาหารได้เองตามปกติ อาหารทางการแพทย์สูตรครบถ้วน จึงถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเสริมพลังงาน และสารอาหารให้กับผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการ

หลักการเลือกอาหารทางการแพทย์ให้เหมาะสมกับผู้ใช้นั้น ควรคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ต่อไปนี้ พิจารณาช่องทางที่ผู้ป่วยจะได้รับอาหารว่านำไปดื่มเสริมเองทางปาก หรือนำไปให้ทางสายให้อาหาร เช่น ถ้าใช้ดื่มเสริมเองทางปาก ควรต้องเลือกอาหารที่มีรสชาติ กลิ่น และเนื้อสัมผัสที่ดี เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดื่มได้ง่าย และยอมรับที่จะดื่มเสริม นอกจากนี้ควรพิจารณาร่วมกับคุณค่าทางโภชนาการของอาหารทางการแพทย์ โดยควรประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ ครบถ้วน ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และแร่ธาติ ในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้ป่วยในภาวะที่เป็นอยู่ จากคำแนะนำเรื่องความต้องการโปรตีนในผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่า คนกลุ่มนี้ควรได้รับโปรตีนที่เพิ่มขึ้นกว่าคนปกติทั่วไป เนื่องจากภาวะของร่างกายที่มีการสลายมากกว่าการสร้าง ร่วมกับอาจจะมีภาวะอักเสบ ติดเชื้อ หรือแผลกดทับ ส่งผลให้ร่างกายมีความต้องการโปรตีนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันเราจึงพบว่า มีการใช้เวย์โปรตีนมาเป็นส่วนผสมของอาหารทางการแพทย์ เพื่อช่วยเสริมสร้างและรักษามวลกล้ามเนื้อของผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มักจะเสี่ยงต่อการสลายของมวลกล้ามเนื้อ สุดท้ายควรจะต้องเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ในการใช้อาหารทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้องสอดคล้องกับภาวะโภชนาการของแต่ละบุคคล โดยถ้าประเมินภาวะโภชนาการของผู้ป่วยแล้ว พบว่า ผู้ป่วยมีภาวะขาดพลังงานและสารอาหาร ไม่สามารถรับประทานอาหารตามปกติได้เพียงพอ ควรพิจารณาใช้อาหารทางการแพทย์แบบเสริมพลังงานและสารอาหารให้กับผู้ป่วย (Supplementation) แต่ถ้าประเมินแล้วพบว่า ผู้ป่วยมีภาวะโภชนาการเกิน หรือมีการรับประทานอาหารบางมื้อยังไม่สมดุลตามหลักโภชนาการ ควรพิจารณาใช้อาหารทางการแพทย์เพื่อทดแทนมื้ออาหาร (Meal Replacement) เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคอ้วนที่ต้องการลดน้ำหนักตัว ควรใช้อาหารทางการแพทย์ในการทดแทนมื้ออาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง เพื่อควบคุมพลังงานของอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน หรือ คนวัยทำงานที่ไม่ค่อยไม่มีโอกาสรับประทานอาหารเช้าที่ครบถ้วนคุณค่าทางโภชนาการ ก็สามารถใช้อาหารทางการแพทย์สูตรครบถ้วนเป็นมื้อเช้าทดแทนมื้อเช้าแบบเดิมที่แม้จะใช้พลังงาน แต่มีสารอาหารไม่ครบถ้วน

ดังนั้น การสร้างสุขภาพดีเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพียงแค่เราเริ่มลงมือทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สุขภาพดีที่หวังไว้คงไม่ใช่แค่ความฝันอีกต่อไป เราสามารถเป็นผู้กำหนดสุขภาพของตนเองได้ ขอเพียงเริ่มต้นทุกวันด้วยโภชนาการที่ครบถ้วน ถือเป็นก้าวแรกที่จะพาทุกคนไปสู่ การมี “สุขภาพดี”

เอกสารอ้างอิง:
1.กองสถิติสังคม สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชากร พ.ศ.2560. The 2017 Food consumption behavior survey Available from: http://www.nso.go.th. Accessed 6 March 2020.
2.สมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย (SPENT) คำแนะนำการดูแลทางโภชนาการในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่นอนโรงพยาบาล พ.ศ.2560 Clinical practice recommendation for the nutrition management in adult hospitalized patients 2017. Available from: http://www.spent.or.th/index.php/publication/category/gl/2017. Accessed 1 March 2020.
3.Komindr S. How to feed your patients. Available from: http://med.mahidol.ac.th. Accessed 1 March 2020.
4.ธัญชนก จัตตารีย์ ชโลบล เฉลิมศรี โภชนาการในผู้สูงอายุ Nutrition support in elderly. Nutrition Review พิมพ์ครั้งที่ 1 สิรกานต์ เตชะวณิช, วีระเดช พิศประเสริฐ, ส่งศรี แก้วถนอม และอุปถัมภ์ ศุภสินธุ์ บรรณาธิการ สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร กรุงเทพฯ, 2560