7 สัญญาณเตือนเมื่อร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน
1213
post-template-default,single,single-post,postid-1213,single-format-standard,bridge-core-1.0.6,ajax_fade,page_not_loaded,,qode_grid_1300,footer_responsive_adv,hide_top_bar_on_mobile_header,qode-theme-ver-18.2,qode-theme-ssbd design,disabled_footer_top,wpb-js-composer js-comp-ver-6.0.5,vc_responsive
 

7 สัญญาณเตือนเมื่อร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน

7 สัญญาณเตือนเมื่อร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน

ผศ.นพ. กุลพงษ์ ชัยนาม
โรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ เป็นที่ทราบกันดีว่าการรับประทานอาหารให้มีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ นั้นมีความสำคัญ ช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรง และป้องกันโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ แม้ว่าในปัจจุบันการเข้าถึงแหล่งอาหารจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบทำให้ความใส่ใจในการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และได้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมครบถ้วนนั้นน้อยลง ส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการ

ภาวะทุพโภชนาการ หมายถึง ภาวะที่ร่างกายได้รับพลังงานหรือสารอาหารไม่เพียงพอ มากเกินไป หรือไม่สมดุลกับความต้องการของร่างกาย โดยสามารถแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้ป่วยขาดสารอาหาร และผู้ป่วยน้ำหนักเกิน ซึ่งรวมถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น การมีน้ำหนักเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะลดลงมากกว่าร้อยละ 5 ของน้ำหนักเดิมในช่วงระยะเวลา 1 เดือนโดยไม่ได้ตั้งใจลดน้ำหนัก จึงเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการขาดสารอาหาร หรือได้รับอาหารไม่เพียงพอ แต่อย่างไรก็ตามหากปล่อยให้น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากเช่นนี้จึงเริ่มตระหนักว่ามีภาวะทุพโภชนาการก็อาจล่าช้าเกินไป การสังเกตอาการแสดงที่อาจบ่งชี้ถึงการได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนตั้งแต่เริ่มแรกจึงมีความจำเป็น เพื่อที่จะรักษาได้อย่างรวดเร็ว และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากภาวะทุพโภชนาการ

สัญญาณที่บ่งบอกว่าร่างกายอาจจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอมี 7 อย่าง ดังต่อไปนี้

1. รู้สึกอ่อนเพลีย อาการอ่อนเพลียเป็นอาการแสดงที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกายได้ในหลายระบบ เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจ ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบเลือด ระบบประสาท โรคติดเชื้อ เป็นต้น อย่างไรก็ตามอาการอ่อนเพลียอาจเป็นอีกสัญญาณที่บอกว่าร่างกายได้รับพลังงานไม่เพียงพอ เพราะการทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ นั้นต้องการพลังงานที่ได้รับจากอาหารเป็นหลัก ผู้ที่รับประทานอาหารไม่เพียงพอจึงรู้สึกอ่อนเพลีย และไม่มีแรง อาการอ่อนเพลียยังอาจเป็นอาการแสดงของการขาดธาตุเหล็กซึ่งทำให้เกิดภาวะซีด หากเม็ดเลือดแดงนำก๊าซออกซิเจนไปยังเซลล์ต่าง ๆ ไม่เพียงพอแล้ว กระบวนการเผาผลาญในระดับเซลล์ก็จะผิดปกติ นอกจากนี้การรับประทานวิตามินบีไม่เพียงพอก็สามารถทำให้กระบวนการเผาผลาญสารอาหารในระดับเซลล์ผิดปกติเช่นกัน ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ขาดพลังงานจนเกิดภาวะอ่อนเพลียและไม่มีแรง

2. เจ็บป่วยง่าย และฟื้นตัวช้า โปรตีนมีส่วนสำคัญในระบบภูมิคุ้มกัน การเจริญเติบโต และการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอไปของร่างกาย การที่ร่างกายเจ็บป่วยง่ายบ่งบอกว่าร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง ซึ่งการรับประทานโปรตีนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอาจทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง นอกจากนี้หากเจ็บป่วยผู้ป่วยที่รับประทานโปรตีนไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายจะหายจากโรคหรือจากการติดเชื้อช้า และการฟื้นตัวของร่างกายต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับมาเหมือนปกติเมื่อเทียบกับคนทั่วไป

 

3. ท้องผูก นอกจากสาเหตุจากความผิดปกติของลำไส้ใหญ่และปัญหาทางพฤติกรรมการขับถ่ายแล้ว การรับประทานอาหารที่มีกากใยไม่เพียงพอและการดื่มน้ำน้อยก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ท้องผูก กากใยอาหารทั้งชนิดที่ละลายน้ำและไม่ละลายน้ำมีส่วนช่วยให้อุจจาระเป็นก้อน อ่อนนุ่ม และขับถ่ายง่าย นอกจากนี้กากใยอาหารยังมีส่วนช่วยทำให้จุลินทรีย์ในลำไส้มีชนิดและจำนวนที่เหมาะสม ซึ่งทำให้การขับถ่ายเป็นปกติ ป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ และลดการเกิดโรคในระบบอื่น ๆ อีกมากมาย

 

4. ผมร่วง สาเหตุหนึ่งของผมร่วงคือรากผมและเส้นผมไม่แข็งแรง ซึ่งอาจจะเกิดจากการขาดสารอาหาร ได้แก่ โปรตีน กรดไขมันจำเป็น สังกะสี ธาตุเหล็ก ไนอะซิน (วิตามินบี 3) ไบโอติน และซีลีเนียม ผมร่วงจึงเป็นสัญญาณหนึ่งที่สำคัญของการได้รับสารอาหารเหล่านี้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

 

 

5. แผลหายช้า กระบวนการสมานแผลของร่างกายประกอบไปด้วย กระบวนการอักเสบ กระบวนการงอกของเส้นเลือดและเนื้อเยื่อ และกระบวนการตกแต่งบาดแผล ซึ่งต้องอาศัยสารอาหาร ได้แก่ โปรตีน กรดไขมันจำเป็น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี และสังกะสี การขาดสารอาหารเหล่านี้ทำให้กระบวนการอักเสบยาวนานขึ้น และ ความสามารถในการสร้างคอลาเจน เส้นเลือดและเนื้อเยื่อพังผืดลดลง ส่งผลให้แผลหายช้า

 

6. ขี้หนาว อาการขี้หนาวเป็นอีกสัญญาณหนึ่งของการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งมีสาเหตุสำคัญ ได้แก่ การมีชั้นไขมันใต้ผิวหนังน้อยทำให้ไม่สามารถทนต่ออุณหภูมิที่ต่ำลงได้ การได้รับพลังงานจากสารอาหารไม่เพียงพอทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างความอบอุ่นได้เมื่อเจออากาศเย็น และการขาดสารอาหารจำพวกธาตุเหล็ก โฟเลต และวิตามินบี 12 ซึ่งทำให้เกิดภาวะซีดและรู้สึกหนาวได้ง่าย

 

7. สมาธิสั้น สมาธิจะเกิดขึ้นได้เมื่อสมองได้รับสารอาหารเพียงพอ สารอาหารที่เป็นแหล่งพลังงานหลักของเซลล์สมอง คือ น้ำตาล การรับประทานพลังงานไม่เพียงพอโดยเฉพาะคาร์โบไฮเดรตจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ทำให้เซลล์สมองมีพลังงานไม่เพียงพอ นอกจากนี้ระดับน้ำตาลที่ต่ำลงจะกระตุ้นในรู้สึกหิว อารมณ์หิวหรือความอยากจะทำให้ความจดจ่อต่องานที่ทำลดลง

 

การได้รับสารอาหารไม่เพียงพอก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของอาการดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นหากพบว่ามี สัญญาณเตือนอย่างใดอย่างหนึ่งใน 7 อย่างนี้แล้ว นอกจากการไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติดังกล่าวแล้ว จึงควรใส่ใจดูแลการรับประทานอาหารในแต่ละวันให้ครบ 5 หมู่ และมีชนิดของอาหารที่หลากหลาย เพื่อที่จะได้รับพลังงานและสารอาหารครบถ้วนตามความต้องการของร่างกาย อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถหาอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน หรือมีภาวะที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ทำให้ได้สารอาหารไม่เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย การดื่มอาหารเสริมที่เป็นอาหารปั่น หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทางการแพทย์ ก็อาจเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอต่อความต้องการ

เอกสารอ้างอิง
1. NHS. Symptoms Malnutrition. Available from https://www.nhs.uk/conditions/malnutrition/symptoms/ (Accessed on June 12, 2020).
2. World Health Organization. What is malnutrition? 2020. Available from https://www.who.int/features/qa/malnutrition/en/ (Accessed on June 12, 2020).
3. Rosenthal TC, Majeroni BA, Pretorius R, Malik K. Fatigue: An Overview. Am Fam Physician. 2008 Nov 15;78(10):1173-9.
4. Guo EL, Katta R. Diet and hair loss: effects of nutrient deficiency and supplement use. Dermatol Pract Concept. 2017;7(1):1-10.
5. Young A, McNaught C. The physiology of wound healing. Surgery (Oxford). 2011; 29: 475-9.
6. Benton D, Owens DS, Parker PY. Blood glucose influences memory and attention in young adults. Neuropsychologia. 1994;32(5):595-607.